D.T.C. BLOG

อัพเดตข่าวสารความรู้โลจิสติกส์

เทคนิคการขับรถขึ้นเขา-ลงเขา ให้ปลอดภัย

ใกล้ช่วงเทศกาลปีใหม่อากาศหนาวๆ แบบนี้เพื่อนๆ หลายคนคงแพลนที่สถานที่ท่องเที่ยวรอกันไว้แล้ว และหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวในใจใครหลายคนแน่นอนต้องเป็นการขึ้นดอย สัมผัสทะเลหมอก และอากาศหนาวๆ แล้วนักท่องเที่ยวส่วนมากเลือกที่จะขับรถยนต์ส่วนตัวขึ้นเขากัน บางคนก็มีทักษะในการขับดีอยู่แล้วก็คงไปได้แบบสบายหายห่วง แต่สำหรับมือใหม่หัดขับรถก็อาจจะไม่มีความชำนาญในเรื่องเส้นทาง และเรื่องทักษะ   ก็อาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นได้

DTC มีเทคนิคในการขับรถขึ้นเขา-ลงเขา ให้ปลอดภัยมาฝากกันครับ

ตรวจเช็คสภาพรถ และเตรียมตัวให้พร้อม

ก่อนขับรถเดินทางไกล ควรตรวจเช็คสภาพรถให้พร้อม เช่น ลมยาง เครื่องยนต์ หม้อน้ำ น้ำมันเครื่อง เบรก แอร์ ฯลฯ เช็คสภาพรถแล้ว อย่าลืมศึกษาเส้นทาง และพักผ่อนให้เพียงพอกันด้วยนะครับ

ขับรถขึ้นเขา-ลงเขา ควรใช้เกียร์ต่ำ

ขาขึ้นเขา จะมีความชันมาก รถจึงต้องการแรงมากกว่าการขับรถบนถนนปกติทั่วไป และเกียร์ที่สามารถใช้ในการขับรถขึ้นทางชันได้ ก็มีเพียงแค่เกียร์ 1 และ 2 เท่านั้น (เกียร์ 1 และ 2 มีแรงมากกว่าเกียร์อื่น ๆ ) และหากรู้สึกว่ารถเริ่มไม่มีแรง ก็ให้ลดเกียร์ต่ำลงมาอีก เช่น ขับมาเกียร์ 2 แล้วรถเริ่มอืด ๆ ให้ลดเกียร์มาเป็นเกียร์ 1 แทน จะทำให้รถมีแรงมากขึ้นครับ ส่วนรถเกียร์ออโต้ ให้เปลี่ยนเกียร์ไปตำแหน่ง “L”

ขาลงเขา ก็ควรใช้เกียร์ต่ำเหมือนกับขาขึ้นเขานะครับ แต่ขาลง รถไม่ต้องการแรงมากเท่าไหร่ แค่ต้องการแรงฉุดเพื่อให้รถวิ่งช้าลง ซึ่งการใช้เกียร์ต่ำวิ่งลงทางชันนั้น จะทำให้เครื่องยนต์มีแรงฉุดมาก เคลื่อนที่ได้ไม่เร็ว ทำให้สามารถเบรกและเข้าโค้งได้อย่างมั่นใจครับ อีกทั้ง ทางลงเขาควรอยู่ที่เกียร์ 1 หรือ 2 เท่านั้นครับ และห้ามดับรถหรือใช้เกียร์ว่างลงเขาเด็ดขาด!

เร่งเครื่องอย่างสม่ำเสมอ

เมื่อขับขึ้นเขาควรจะเร่งเครื่องส่งอย่างสม่ำเสมอ เพื่อส่งกำลังให้รถมีกำลังขึ้นเขาอย่างต่อเนื่อง ยิ่งในทางชันยาว ๆ ควรเร่งต่อเนื่องกันไป เพราะหากเร่ง ๆ หยุด ๆ อย่าเร่งๆ หยุดๆ โดยเฉพาะในทางลาดชันจะทำให้รถเสียการทรงตัวได้นะครับ

แตะเบรกเป็นระยะ

ในทางลงเขา ต้องมีการแตะเบรกช่วยด้วย เพื่อชะลอความเร็วของรถ แต่อย่าแตะเบรกค้างนะครับ เพราะจะทำให้เบรกไหม้และเบรกไม่อยู่ ควรแตะเบรกในจังหวะที่จำเป็นเท่านั้น และควรตรวจสอบเบรกรถยนต์ของท่านก่อนออกเดินทาง ให้อยู่ในสภาพที่ปลอดภัยและพร้อมใช้งาน

อย่าแซง ตรงทางโค้งหรือเส้นทึบ

เนื่องจากถนนบนเขานั้นมีความคับแคบและคดเคี้ยวมาก ทำให้ไม่สามารถมองเห็นรถอีกฝั่งได้ชัดเจน เพราะถูกทางโค้งหรือต้นไม้บดบัง จึงไม่ควรขับแซงในเขตห้ามแซง เนื่องจากอุบัติเหตุบนเขาส่วนใหญ่ก็มาจากการแซงทางโค้ง หรือแซงโดยที่มองรถอีกฝั่งไม่เห็นนี่แหละ